การแยกประเภทสารเคมีตามลักษณะอันตรายของสารเคมีแต่ละชนิดอาจดูได้จากเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (Safety Data Sheet: SDS) ซึ่งเอกสารดังกล่าวนอกจากจะแสดงลักษณะอันตรายของสารเคมีชนิดนั้นๆ แล้ว ยังแสดงวิธีการจัดเก็บ สถานที่ที่ใช้ในการจัดเก็บรวมทั้งรายการสารเคมีที่ไม่ควรจัดเก็บร่วมกัน การปฏิบัติตามรายละเอียดที่ปรากฎในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยนั้น ถือเป็นการจัดการสารเคมีที่เหมาะสมสำหรับสารแต่ละชนิด อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป หากทราบคุณสมบัติของสาร ก็สามารถกำหนดการจัดเก็บสารเคมีในเบื้องต้นได้ ดังนี้

 

            1.  สารไวไฟ (flammable materials) หมายถึง สารที่ลุกติดไฟได้ง่ายในสภาพอุณหภูมิและความดันปกติ ตัวอย่างของสารเหล่านี้ ได้แก่ ผงละเอียดของโลหะ ฟอสฟอรัส (Phosphorous) ของเหลวที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส และก๊าซไวไฟต่างๆ 

            วิธีการเก็บสารไวไฟควรเก็บในที่เย็น อากาศถ่ายเทได้และอยู่ห่างจากแหล่งจุดติดไฟ เช่น ความร้อนหรือประกายไฟ เก็บแยกจากสารออกซิไดซ์ สารที่ลุกติดไฟเองได้ สารที่ระเบิดได้และสารที่ทำปฏิกิริยากับอากาศหรือความชื้นและให้ความร้อนออกมาจำนวนมาก ภาชนะที่เก็บต้องมีฝาปิดแน่นไม่ให้อากาศเข้าได้ รวมทั้งพื้นที่ที่เก็บสารนั้นควรต่อสายไฟลงในดินเพื่อลดไฟฟ้าสถิตย์ที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

            2.  สารพิษ (toxic chemicals)  คือ สารซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดๆ ซึ่งทั้งนี้จะรวมถึงสารกัมมันตรังสี (radioactive) ด้วย

            วิธีการเก็บสารพิษควรเก็บห่างจากแหล่งจุดติดไฟ สำหรับสารที่ไวต่อแสง ต้องเก็บไว้ในขวดสีชา ในสถานที่เย็น แห้งและมืด ภาชนะต้องปิดฝาสนิท อากาศเข้าไม่ได้และควรมีการตรวจสอบภาชนะที่เก็บและบริเวณที่เก็บอย่างสม่ำเสมอ 

 

 

            3.  สารกัดกร่อน (corrosive materials) รวมถึง กรด acid anhydride และ ด่าง สารพวกนี้มักจะทำลายภาชนะที่บรรจุและออกมายังบรรยากาศภายนอกได้ บางตัวระเหยได้บางตัวทำปฏิกิริยารุนแรงกับความชื้น

            วิธีการเก็บสารกัดกร่อนควรเก็บในที่เย็น แต่อุณหภูมิต้องสูงกว่าจุดเยือกแข็ง สารที่เป็นกรดควรเก็บแยกห่างจากโลหะที่ไวในการทำปฏิกิริยา เช่น โซเดียม (Sodium) โพแทสเซียม (Potassium) และแมกนีเซียม (Magnesium) สารที่เป็นด่างควรเก็บห่างจากกรดและสารอื่นๆ ที่ไวต่อการทำปฏิกิริยา

 

 

            4.  สารระเบิดได้ (explosives) คือ สารที่เกิดการสลายตัวอย่างรวดเร็วได้ที่อุณหภูมิหนึ่งๆ เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนหรือเกิดปฏิกิริยารุนแรง จะให้ก๊าซและความร้อนออกมาจำนวนมาก ซึ่งทำให้อากาศรอบๆ ตัวเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้เกิดการระเบิด สิ่งที่มีผลต่อสารที่ระเบิดได้ คือ ความร้อนหรือเย็นจัดๆ อากาศแห้ง หรือขึ้นอยู่กับการเก็บ ความไม่ระมัดระวังในการใช้งาน ระยะเวลาในการเก็บ ระยะเวลาที่เอาออกมาจากภาชนะเริ่มแรกก่อนใช้ 

            วิธีการเก็บสารระเบิดได้ควรเก็บห่างจากสารเคมีและอาคารอื่นๆ และมีการล๊อคอย่างแน่นหนา ไม่ควรเก็บในที่มีเชื้อเพลิง หรือสารที่ติดไฟได้ง่าย ต้องห่างเปลวไฟอย่างน้อย 20 ฟุต และไม่ควรมีชนวนระเบิด ที่สำคัญคือห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปในสถานที่เก็บสารได้

 

ที่มา http://www.chemtrack.org/

banner_footer_index_01
banner-index-footer-02